มาตรฐานศูนย์บริการสาธารณสุข
(Public Health Center Standard)
สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) มีบทบาทหน้าที่สำคัญตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์กร ในการดำเนินการเกี่ยวกับการประเมินระบบงานและการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล รวมทั้งกำหนดมาตรฐานของสถานพยาบาลเพื่อใช้เป็นแนวทางการประเมินการพัฒนาและการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้มีกลไกการกำกับดูแลเรื่องมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยในการให้บริการในระบบบริการปฐมภูมิและให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ด้านสาธารณสุขรวมทั้งนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ได้กำหนดจุดมุ่งเน้นในการสร้างระบบสุขภาพปฐมภูมิเข้มแข็ง และสถาบันได้ร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ในการพัฒนามาตรฐานศูนย์บริการสาธารณสุขขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เพื่อใช้เป็นแนวทางส่งเสริมการพัฒนาและประเมินรับรองหน่วยบริการสุขภาพประเภทที่ไม่ได้รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน เพื่อเป็นการยกระดับการพัฒนาบริการสุขภาพปฐมภูมิในเขตเมืองของศูนย์บริการสาธารณสุข และการพัฒนาให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางวิชากรและเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมทั้งแนวคิดการพัฒนาคุณภาพ นโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศ จึงได้มีการพัฒนามาตรฐานศูนย์บริการสาธารณสุข ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2565 ตามแนวทางการพัฒนามาตรฐานสากล ISQua IEEA โดยมุ่งเน้นให้เกิดการบริหารจัดการสถานพยาบาลที่ส่งมอบคุณค่าแก่ผู้รับผลงาน ความปลอดภัย การพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง และระบบบริการที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนยกระดับการพัฒนาคุณภาพบริการสุขภาพปฐมภูมิที่เป็นองค์รวม
กรอบแนวคิดมาตรฐานศูนย์บริการสาธารณสุข
มาตรฐานศูนย์บริการสาธารณสุข มีทั้งหมด 7 หมวด โดยใช้มาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ เป็นกรอบแนวคิดในการพัฒนา โดยมีการปรับปรุงโครงสร้างของมาตรฐานในบทที่ I-6 การปฏิบัติการ แบ่งเป็นกระบวนการหลักและกระบวนการสนับสนุน ซึ่งกระบวนการหลักมาตรฐานจะครอบคลุม บทที่ II-8 การเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพ บทที่ II-9 การทำงานกับชุมชน ซึ่งเป็นมาตรฐานสำคัญในสำหรับหน่วยบริการปฐมภูมิ และตอนที่ III กระบวนการดูแลผู้ป่วย ส่วนกระบวนการสนับสนุน ครอบคลุมมาตรฐานตอนที่ II ในมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสาธารณสุข ฉบับที่ 4 ที่สำคัญจำเป็นสำหรับหน่วยบริการปฐมภูมิ โดยมีการปรับรายละเอียดของมาตรฐานให้สอดคล้องกับบริบทของหน่วยบริการปฐมภูมิในเขตเมือง ซึ่งเป็นหน่วยบริการสุขภาพที่ไม่ได้รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน และมีการดำเนินงานในชุมชนที่หลากหลาย รวมทั้งการดูแลประชาชนผู้รับบริการในหน่วยบริการและในชุมชนที่เชื่อมโยงกันจนถึงระดับโรงพยาบาล