โครงการพัฒนากลไกเพื่อคุณภาพและความปลอดภัยของระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม (2P Safety Hospital)

ความสำคัญและความเป็นมา 

          Patient Safety หรือ ความปลอดภัยของผู้ป่วย เป็นปัญหาที่สำคัญและมีผลกระทบต่อวงการแพทย์ทั่วโลก ดังปรากฏในรายงานวิชาการและข่าวสารทางสื่อมวลชน ในแต่ละปีผู้ป่วยกว่าล้านคนต้องเจ็บป่วยจากภาวะแทรกซ้อนหรือเสียชีวิตจากการเข้ารับบริการทางการแพทย์ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุ ว่าอุบัติการณ์ความเสี่ยงของผู้ป่วยในที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลเกิดขึ้นระหว่างร้อยละ 4 ถึงร้อยละ 16 โดยพบว่า ประชากรหลายร้อยล้านคนทั่วโลก ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อในโรงพยาบาล ซึ่งในทุก ๆ 100 คนที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลจะมีโอกาสติดเชื้อในโรงพยาบาล 7-10 คน นอกจากนี้ ในประเทศที่พัฒนาแล้วพบว่า ประมาณ 1 คนในทุก ๆ 10 คนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจะได้รับอันตรายที่อาจเกิดจากความผิดพลาดหรือเหตุการณ์ไม่พึ่งประสงค์ต่าง ๆ ซึ่งอุบัติการณ์เหล่าในประเทศกำลังพัฒนาเกิดขึ้นสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วหลายเท่า

          การประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกครั้งที่ 55 ปี ค.ศ.2002 ได้มีมติในการให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย (WHA 55.13 – Quality of Care: Patient Safety)โดยเรียกร้องประเทศสมาชิกให้ความสนใจกับเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย (Patient Safety) และสนับสนุนให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมเพื่อความปลอดภัยในสถานบริการสุขภาพ จากนั้นได้มีการตื่นตัวและมีการตอบรับของประเทศสมาชิก และได้นำมาซึ่งมติของที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ.2004 เรื่องการสร้างพันธมิตรเพื่อขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยในระดับโลก (WHA 57.18 – Launch of World Alliance for Patient Safety) หลังจากนั้นองค์การอนามัยโลกได้มีการสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ กลไก เครื่องมือ และแนวทางต่าง ๆ มากมาย ให้กับประเทศสมาชิก และมีการขยายการขับเคลื่อนให้เป็นมติที่มีความสำคัญในระดับภูมิภาคด้วย

            ประเทศไทยเป็น 1 ใน 11 ประเทศสมาชิกกลุ่ม WHO – South-East Asia Region (WHO-SEAR) ที่เห็นความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย โดยในปี ค.ศ.2006 ในการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยที่ 59 ได้มีการรับรองมติเรื่อง “Promoting safety in health care” และเชิญชวนประเทศสมาชิกเข้าร่วมการประกาศปฏิญญาที่ประเทศอินโดนีเซียร่วมกันเมื่อปี ค.ศ.2007 (The Jakarta Declaration on Patients for Patient Safety in SEAR Countries) หลังจากนั้นประเทศสมาชิกในภูมิภาคนี้ได้มีการเคลื่อนไหวประเด็นความปลอดภัยของผู้ป่วยภายในประเทศของตนเอง อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ามีประเด็นความไม่ปลอดภัย ทั้งในผู้ให้และผู้รับบริการในระบบบริการสุขภาพ รวมถึงยังมีข้อจำกัดในเรื่องของการ ติดตามประเมินผล นอกจากนี้ การขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการให้ความสำคัญของประเด็นนี้จากทุกภาคส่วน ซึ่งระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัยจะนำมาซึ่งความไว้วางใจของผู้ให้และผู้รับบริการอันจะทำให้เกิดความยั่งยืนของการดูแลสุขภาพของประชาชนที่ครอบคลุมและมีคุณภาพ

          ในปี ค.ศ.2014 ประเทศไทย มีส่วนร่วมในการยกร่างมติเสนอต่อการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลก หรือ Regional committee (RC) สมัยที่ 68 ให้เห็นความสำคัญว่าเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย เป็นกลไกหลักในการทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน โดย WHO-SEAR ได้มีการพัฒนายุทธศาสตร์เรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (Regional strategy for patient safety in the WHO South-East Asia Region) ร่วมกับทีมผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิก โดยมีความครอบคลุมการขับเคลื่อนความปลอดภัยของผู้ป่วยด้วยยุทธศาสตร์และการติดตามประเมินผล ซึ่งสอดคล้องกับการนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ในการประชุม RC สมัยที่ 68 จึงมีการรับรองมติเรื่อง Patient safety contributing to sustainable universal health coverage (SEA/RC 68/ R4) ของประเทศสมาชิก โดยมีการเรียกร้องและสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกนำยุทธศาสตร์ของภูมิภาคดังกล่าว ไปดำเนินการในระดับประเทศ และมีกระบวนการติดตามประเมินผลที่มุ่งการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งผู้ป่วยและชุมชน โดยแนะนำให้ประเทศสมาชิกมีแผนการดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยที่ชัดเจนและสรุปรายงานผลที่ได้ต่อองค์การอนามัยโลก ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกจะให้การสนับสนุน องค์ความรู้ และเครื่องมือในการพัฒนาต่าง ๆ รวมถึงการประเมิน ติดตามผลร่วมกัน 

          WHO-SEAR ได้พัฒนาเครื่องมือในการประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของผู้ป่วยในะดับประเทศขึ้น (Country Self-Assessment for Patient Safety Situation) และได้เชิญชวนให้ประเทศสมาชิกทำการประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของผู้ป่วยภายในประเทศของตน ซึ่งเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2559 ประเทศไทยได้สรุปผลการประเมินตนเองของประเทศไทย เพื่อนำข้อมูลดังกล่าว มาวางแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยของประเทศไทย จากผลการประเมินดังกล่าวประเทศไทยจึงได้จัดลำดับความสำคัญของประเด็นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกาศเป็นนโยบายของชาติ โดยสรุปประเด็นที่จะนำไปวางแผนการดำเนินการต่อเนื่องในการพัฒนาเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย ดังนี้

            1. การมีส่วนร่วมของผู้ป่วย ชุมชน และสังคม ในการพัฒนาเรื่องความปลอดภัยและการมีระบบรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในระดับประเทศ

            2. การสร้างความเข็มแข็งในประเด็นเรื่องความปลอดภัยด้านยาและการสร้างงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่อง ความปลอดภัยของผู้ป่วย (Patient Safety) เพื่อเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในการสนับสนุนการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป   

            3. การส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาให้ความสำคัญและบูรณาการการเรียนการสอนในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข (Patient and Personnel Safety)            

          ประเทศไทย ประกาศนโยบาย “ความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข” หรือ "Patient and Personnel Safety (2P Safety)"เพื่อให้หน่วยงาน บุคลากรสาธารณสุข ผู้รับบริการสุขภาพและประชาชนได้ทราบ ลงนามในปฏิญญาประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันของหน่วยงานภาคีเครือข่าย จำนวน 16 องค์กร โดยมีการกำหนดให้มีเป้าหมายความปลอดภัย  

  1. เป็น National Patient and Personnel Safety Goals และวางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข จากความร่วมมือของทุก ภาคส่วน
  2. สนับสนุนให้มี National incidents Reporting and Learning System ที่เกิดจากความร่วมมือของบุคลากรและหน่วยงานตั้งแต่ระดับพื้นที่ ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ ทั้งนี้ เพื่อเกิดการพัฒนาเชิงระบบอย่างยั่งยืน
  3. ส่งเสริมให้ผู้ป่วยและประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเพื่อความปลอดภัยในระบบบริการสุขภาพอย่างสร้างสรรค์