สรพ. ร่วมงาน “วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล” (ประเทศไทย) ภายใต้แนวคิด "FIGHT AGAINST CORRUPTION สู้ให้สุด หยุดการโกง"

นางวราภรณ์ สักกะโต หัวหน้ากลุ่มภารกิจส่งเสริมการพัฒนาและฝึกอบรม สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล และเจ้าหน้าที่สถาบัน ร่วมงาน “วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล” (ประเทศไทย) ภายใต้แนวคิด "FIGHT AGAINST CORRUPTION สู้ให้สุด หยุดการโกง" ในวันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม 2567 เวลา 08.00-11.30 น. ณ ฮอลล์ 7 อาคารศูนย์การประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
งานนี้ได้รับเกียรติจาก นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี ประกาศเจตจํานงในการต่อต้านการทุจริต โดยมี นายมงคล วุฒินิมิต ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงาน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้กล่าวรายงาน
วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-Corruption Day) ถือกำเนิดขึ้นหลังจากที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติ (UN) มีมติเห็นชอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต พ.ศ. 2546 (United Nations Convention Against Corruption – UNCAC , 2003) อย่างเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 จากนั้นประเทศภาคีเครือข่ายสหประชาชาติจำนวน 191 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยได้เข้าร่วมลงนาม ในอนุสัญญาฯ ระหว่างวันที่ 9 - 11 ธันวาคม 2546 ณ เมืองเมอริด้า ประเทศเม็กซิโก ด้วยเหตุนี้ องค์การสหประชาชาติ จึงประกาศให้วันที่ 9 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล โดยอนุสัญญาฯ ได้กำหนด ประเด็นความร่วมมือที่สำคัญของรัฐภาคี 3 ประการ ได้แก่ ด้านมาตรการเชิงป้องกัน : ทุกประเทศต้องมุ่งป้องกัน ปัญหาคอร์รัปชันเป็นอันดับแรก ด้านการบัญญัติความผิดทางอาญา : ทุกประเทศต้องถือว่าการคอร์รัปชัน ทุกรูปแบบ คือ อาชญากรรม และด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ : ทุกประเทศต้องให้ความร่วมมือในการทำให้ อนุสัญญาฯ มีผลในทางปฏิบัติได้จริง
สำหรับงานในครั้งนี้ จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาล, สํานักงาน ป.ป.ช., สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.), องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ ได้แก่ 1.การประกาศเจตจำนงของผู้นำทุกภาคส่วนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2.การสร้างวัฒนธรรมสังคมไทยที่ปฏิเสธการทุจริตในทุกรูปแบบ และ 3.การยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาทุจริต