ศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล ภาคตะวันออก
เครือข่ายศูนย์ความร่วมมือเพื่อพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล ภาคตะวันออกของประเทศไทย ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายด้านสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้นในจังหวัดต่างๆ ของภาคตะวันออก ปัญหาเหล่านี้รวมถึงการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์, การเข้าถึงบริการสุขภาพที่ไม่เท่าเทียม, อาชีวเวชศาสตร์ อนามัยสิ่งแวดล้อม และการระบาดของโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคอุบัติใหม่ที่เพิ่มขึ้น เครือข่ายดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้, การพัฒนาระบบบริหารจัดการคุณภาพ, และการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงบริการสุขภาพและผลลัพธ์ที่ดีต่อผู้ป่วย
ศูนย์ความร่วมมือฯ มีความพร้อมที่จะช่วยส่งเสริมการใช้หลักการ Quality และ Safety ในการจัดการกับปัญหาด้านสุขภาพได้แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่ดีในหลายๆ ด้าน เช่น การลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องกลับมารักษาซ้ำ, การป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล, การปรับปรุงความพึงพอใจของผู้ป่วย , งานอาชีวเวชศาสตร์และอนามัยสิ่งแวดล้อม อีกทั้งงาน Medical Tourism ที่ EEC มุ่งเน้น เพื่อช่วยให้โรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ สามารถแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดและสร้างมาตรฐานใหม่ๆ เพื่อการดูแลผู้ป่วยที่มีคุณภาพและปลอดภัย นำไปสู่การประเมินคุณภาพในรูปแบบต่างๆ ของทาง สรพ. ได้อย่างรายรื่น ต่อเนื่อง และยกระดับผลลัพธ์ด้านสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่ได้จริง
วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง
- ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล การประเมินการพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐาน การจัดกิจกรรมสร้างการเรียนรู้และให้คำปรึกษาแก่สถานพยาบาลในภาคตะวันออก เพื่อการพัฒนาและรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ตามมาตรฐานที่คณะกรรมการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาลกำหนด ให้มีความครอบคลุม ต่อเนื่อง และยกระดับการพัฒนาสถานพยาบาลในภาคตะวันออก
- ส่งเสริมการสร้างและพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขที่มีความรู้ความชำนาญด้านการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล เช่น ที่ปรึกษากระบวนการคุณภาพ ผู้เยี่ยมสำรวจ วิทยากร ผู้จัดการศูนย์คุณภาพหรือตัวแทนผู้บริหารฝ่ายคุณภาพของสถานพยาบาลในภาคตะวันออก
- ประสานงานและร่วมมือกับสถานพยาบาลเครือข่ายในภาคตะวันออก รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและธำรงกระบวนการคุณภาพให้มีความต่อเนื่อง ปลอดภัย และเกิดผลลัพธ์บริการที่พึงประสงค์ทั้งของสถานพยาบาลรายแห่ง และระบบเครือข่ายบริการสุขภาพ
- ส่งเสริมให้เกิดกลไกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาคุณภาพของสถานพยาบาล ในภาคตะวันออก เช่น กิจกรรมสร้างการเรียนรู้ กิจกรรมฝึกอบรมหรือสัมมนา กิจกรรมประชุมวิชาการของเครือข่ายสถานพยาบาล กิจกรรมถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
- ส่งเสริมการพัฒนาผลงานวิชาการด้านการพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัย รวมถึงความร่วมมือในการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้อง
- ติดตามสถานการณ์รับรองกระบวนการคุณภาพของสถานพยาบาลในภาคตะวันออก ตามที่ตกลงไว้กับสถาบัน เพื่อจัดทำแผนงานการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลในภาคตะวันออก ดำเนินการ กำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงาน
- ให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อ สรพ. เพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาคุณภาพ
ขอบเขตพื้นที่รับผิดชอบ
สถานพยาบาลในภาคตะวันออกของประเทศไทยจำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด ทั้งโรงพยาบาลภาครัฐ และภาคเอกชน
สถานที่ตั้ง : สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดระยอง